พูดคุย แนะนำ ทั่วไป > โรคที่มักพบ

โรคเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

(1/1)

ขายหมา:


เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
          โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง ทำให้คนหรือสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ต้องตายด้วยความทุรนทุราย โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เรบีส์ไวรัส ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกระสุนปืน จะอยู่ในเซลล์ที่มีชีวิตเท่านั้น เมื่อออกมานอกร่างกายจะมีชีวิตได้ไม่นาน ถูกทำลายได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน แสงแดด หรือในสภาพแห้งแล้ง ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ได้ผลดี คือ ฟอร์มาลิน , 70 % แอลกอฮอล์ , ไลโซล , กรดหรือด่างอย่างแรง หรือ 10 % ไฮโปคลอไรท์ ( น้ำผสมคลอรีนไฮเตอร์ หรือคลอร็อก ในอัตราส่วน 1 ส่วนต่อน้ำ 9 ส่วน )


สัตว์ที่สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้
          สัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดโดยเฉพาะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว ควาย ม้า หมู ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ ค้างคาว คน ฯลฯ แต่ในประเทศไทย สัตว์ที่พบว่าเป็น โรคพิษสุนัขบ้า มากที่สุด คือ สุนัข ( 96 % ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้อง -ปฏิบัติการ ) รองลงมา คือ แมว ( 3% ) การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คน โดยการได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลายสัตว์ เข้าทางบาดแผลที่เกิดจากการถูกกัด ข่วน หรือถูกเลียบริเวณบาดแผลที่มีอยู่เดิม หรือได้รับเชื้อเข้าทางเยื่อตา เยื่อปาก การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อกระจกตา อาจพบว่าติดเชื้อจากการหายใจ แต่น้อยมาก ในสัตว์มักติดโรคโดยถูกสุนัขกัด เช่น วัวที่เลี้ยงปล่อยฝูง หรือสุกรที่เลี้ยงใต้ถุนเรือน คอก หรือเล้าที่ไม่มิดชิด คนถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะแสดงอาการ ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อ จนกระทั่งปรากฏอาการ หรือระยะฟักตัวจะกินเวลาตั้งแต่ 7 วัน ถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับลักษณะบาดแผลและบริเวณที่ถูกกัด ถ้าถูกกัดบริเวณใบหน้าหรือใกล้สมองและบาดแผลฉกรรจ์ ระยะฟักตัวจะเร็ว ถ้าถูกกัดบริเวณขา ระยะฟักตัวนานกว่า เพราะเชื้อจะเดินทางมาถึงสมองโดยเฉลี่ยประมาณ 2 - 6 อาทิตย์
 

อาการของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า
           มี 2 แบบ คือ แบบก้าวร้าว ดุร้าย และแบบอัมพาต อาการของโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะอาการเริ่มแรก อาจมีอาการไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอคล้ายเป็นหวัด อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง และที่พบบ่อย คือ อาการคัน เสียว หรือชาบริเวณแผลที่ถูกกัด ระยะอาการทางระบบประสาท อาจคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กลัวน้ำ กลัวลม ความรู้สึกไวกว่าปกติ ทุรนทุราย หรือมีอาการซึม เป็นอัมพาต น้ำลายไหลต้องบ้วนทิ้ง กลืนน้ำไม่ได้ ระยะสุดท้าย ไม่รู้สึกตัว หายใจกระตุก ผู้ป่วยส่วนมากมักจะตายภายใน 7 วัน หลังจากเริ่มแสดงอาการ ถ้าเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนในสมองมาก ก็จะแสดงอาการแบบคลุ้มคลั่ง ดุร้าย แต่ถ้าเชื้อ ไวรัสเพิ่มจำนวนมากในไขสันหลัง จะแสดงอาการอัมพาต

อาการโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข
           แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบดุร้าย แสดงอาการชัดเจนและพบบ่อย และแบบซึมซึ่งแสดงอาการไม่ชัดเจน อาการของโรคมี 3 ระยะ คือ ระยะอาการเริ่มแรก สุนัขจะมีนิสัยแปลกไปจากเดิม ตัวที่เคยขลาดกลัวจะเข้ามา คลอเคลีย ตัวที่เคยเชื่องชอบเล่น จะหงุดหงิด หลบไปตามมุมมืด เงียบ กินอาหารและน้ำน้อยลง ระยะนี้มีอาการ 2 - 3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 2 ระยะตื่นเต้น จะมีอาการทางประสาท มีความรู้สึกไวกว่าปกติ กระวนกระวาย หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของ ตัวแข็ง ขากรรไกรแข็ง ปากอ้า ลิ้นห้อย น้ำลายไหล ม่านตาขยาย บางตัววิ่งพล่านไปทั่ว เมื่อพบสัตว์หรือคนขวางหน้าจะกัด ส่งเสียงเห่าหอน ในระยะที่แสดงอาการแบบซึมอาจไม่แสดงอาการเช่นนี้ แต่เมื่อถูกรบกวนอาจกัด ต่อมา กล้ามเนื้อจะเริ่มอ่อนแรงลง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ได้ บางตัวชักกระตุก อาการระยะนี้พบได้ 1 - 7 วัน จึงจะเข้าระยะสุดท้าย ระยะอัมพาต เกิดอาการอัมพาตลามทั้งตัวเริ่มจากขาหลัง ต่อมากล้ามเนื้อคอจะเป็นอัมพาต กลืนอาหารไม่ได้ ระบบหายใจล้มเหลวและตายในที่สุด รวมระยะเวลาเริ่มแสดงอาการจนตายประมาณ 10 วัน
 

อาการโรคพิษสุนัขบ้าในแมว
           ในระยะที่มีอาการชัดเจน แบ่งได้เป็น 3 ระยะ เช่นกัน คือ ระยะอาการนำ มีอาการหงุดหงิด นิสัยเปลี่ยนไป ชอบหลบซุกในที่มืด ระยะนี้มักสั้น ไม่เกิน 1 วัน ระยะตื่นเต้น แสดงอาการดุร้าย กัด หรือข่วนคนหรือสัตว์ที่เข้ามาใกล้ กล้ามเนื้อสั่น น้ำลายไหล กลืนลำบาก ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2 - 4 วัน ระยะอัมพาต เริ่มเป็นอัมพาตจากขาหลัง แล้วลามมายังลำตัว ขาหน้าและหัว จนทั่วตัวอย่างรวดเร็ว แล้วถึงแก่ความตาย อาการในแมวมักไม่ชัดเจน อาจเป็นแบบซึม มีระยะตื่นเต้นสั้นมาก หรือไม่แสดงอาการเลย อาจพบว่ากินอาหารและน้ำลำบาก แล้วเป็นอัมพาตลามไปทั่วตัว ตายในเวลา 3 - 4 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ

 


ทำไม…จึงเรียกโรคพิษสุนัขบ้าว่า โรคกลัวน้ำ
          อาการกลัวน้ำ เป็นอาการที่แปลก พบในโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อคอเป็นอัมพาตและกระตุกเกร็ง แม้ว่าจะหิวน้ำ แต่เมื่อกินจะสำลักและเจ็บปวดมาก ในสุนัขจะเห่าหอนผิดปกติ เนื่องจากเกิดอัมพาตกล้ามเนื้อกล่องเสียง ต่อมาจะเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยวและการกลืน ทำให้ใช้ลิ้นตวัดน้ำเข้าปากไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ปากอ้า ลิ้นห้อยมีสีแดงคล้ำ น้ำลายไหล กลืนน้ำไม่ได้ ในคนเริ่มจาก รู้สึกแน่นตึงในลำคอ กลืนอาหารลำบาก เมื่อกินน้ำจะสำลักออกทางปากทางจมูก เวลาพยายามดื่มน้ำจะเจ็บปวดมาก เนื่องจาก กล้ามเนื้อในลำคอ กระตุกเกร็ง

เมื่อถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดควรทำอย่างไร
          1. รีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่หลาย ๆ ครั้ง เพื่อล้างเชื้อออกจากบาดแผล ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น
          2. เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ควรใช้สารละลายโพวีโดนไอโอดีน เช่น เบตาดีน ถ้าไม่มี อาจใช้แอลกอฮอล์ 70 % หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
          3. ไม่ควรเย็บแผล ถ้าจำเป็นควรรอไว้ 3 - 4 วัน ถ้าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่อาจเย็บหลวม ๆ และใส่ท่อระบายไว้
          4. กักสัตว์ไว้ดูอาการอย่างน้อย 10 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์ดุร้าย กัดคนและสัตว์อื่น หรือไม่สามารถกักสัตว์ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไป ให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
          5. รีบไปพบแพทย์ทันที หลังจากถูกสัตว์กัด เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีน อย่ารอจนกระทั่งสัตว์ที่กัดตาย อาจพิจารณาให้การป้องกันบาดทะยัก และยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ด้วย
          6. พบสัตว์แพทย์ กรมปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน เพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับตัวสัตว์ เช่น ชนิดสัตว์ สี เพศ พันธุ์ อายุ สถานที่ถูกกัด เพื่อวางมาตรการป้องกันและควบคุมโรคต่อไป
          7. เมื่อสัตว์ตาย ตัดหัวส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้า
          8. ต้องซักประวัติโดยละเอียดและส่งไปพร้อมซากสัตว์ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สัมผัสโรค
เรื่องน่ารู้
          1. กว่า 90 % ของผู้ที่ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการไม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัด

          2. การช่วยเหลือสุนัขจรจัดโดยการให้อาหาร แต่ไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และคุมกำเนิดไม่ให้มีลูก เป็นการเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัด หรือสุนัขมีเจ้าของแต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

          3. ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เนื่องมาจากการถูกกัดโดยสุนัขจรจัด หรือสุนัขมีเจ้าของแต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

          4. ลูกสุนัข ( ทุกอายุ ) มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกับสุนัข

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version